Home | Research | Publication | Article | Patents &Trademark | Contact | EN MU

การจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร

 

หลักการและเหตุผล
การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์อย่างต่อเนื่องทั้งการใช้พลังงานการเกษตรกรรม การพัฒนาและการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม การขนส่ง การตัดไม้ทำลายป่า รวมทั้งการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในรูปแบบอื่น ๆ ล้วนเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดภาวะโลกร้อน และนับวันปัญหาดังกล่าวก็ยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น จากผลกระทบของภาวะโลกร้อน ทำให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกตื่นตัวในการดำเนินงานเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร (Carbon Footprint for Organization หรือ Corporate Carbon Footprint: CCF) เป็นวิธีการประเภทหนึ่งในการแสดงข้อมูลปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยจากการดำเนินงานขององค์กร อันจะนำไปสู่การกำหนดแนวทางการบริหารจัดการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งในระดับโรงงาน ระดับอุตสาหกรรม และระดับประเทศ

อย่างไรก็ตาม กิจกรรมการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรในประเทศไทยยังมีน้อย มีเพียงองค์การขนาดใหญ่ไม่กี่องค์กรเท่านั้นที่ได้เริ่มดำเนินการ เนื่องจากองค์กรส่วนใหญ่ยังขาดความรู้และไม่ทราบเทคนิคและวิธีการคำนวณ CCF ดังนั้นองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) จึงได้กำหนดให้มีการดำเนินงานด้านการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรขึ้น เพื่อกำหนดแนวทางหรือหลักเกณฑ์การประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรสำหรับใช้เป็นเครื่องมือในการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ทั้งการผลิตและการบริการขององค์กร อันจะเป็นการช่วยเสริมสร้างศักยภาพให้กับผู้ประกอบการและธุรกิจของไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก และเป็นการเตรียมความพร้อมหากภาครัฐจำเป็นต้องมีรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas Reporting) ขององค์กรต่างๆ เพื่อใช้เป็นแนวทางบริหารจัดการการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย

วัตถุประสงค์
1. เพื่อเพิ่มขีดความสามารถขององค์กรในประเทศไทย ในการคำนวณข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร เพื่อใช้บริหารจัดการการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2.เพื่อเตรียมความพร้อมหากภาครัฐจำเป็นต้องมีรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas Reporting) ขององค์กรต่างๆ เพื่อใช้เป็นแนวทางบริหารจัดการการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย

แนวทางการบริหารจัดการและการขึ้นทะเบียน โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย >>คลิก



โครงการนำร่อง การพัฒนาตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจในนิคมอุตสาหกรรม

หลักการและเหตุผล
ประเด็นการแก้ไขปัญหาโลกร้อนด้วยการแสดงเจตนารมณ์ในการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก จัดเป็นประเด็นที่ทุกประเทศให้ความสำคัญ โดยเฉพาะการพยายามลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากภายในกระบวนการผลิตของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งถือว่าเป็นภาคส่วนที่มีความสำคัญในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แนวทางการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกจากสัตยาบันในพิธีสารเกียวโต ได้กำหนดกลไกทางเศรษฐศาสตร์ 3 รูปแบบเพื่อส่งเสริมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ได้แก่ การซื้อขายสิทธิ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission Trading: ET) การดำเนินการร่วมกัน (Joint Implementation : JI) และกลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism: CDM) โดยกลไกที่ประเทศไทยสามารถมีส่วนร่วมในการดำเนินการ คือ กลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism: CDM) ซึ่งเป็นกลไกที่ส่งเสริมให้เกิดการซื้อขายปริมาณการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกระหว่างประเทศพัฒนาแล้วที่มีพันธกรณีต้องลดก๊าซเรือนกระจก กับประเทศกำลังพัฒนาที่ดำเนินโครงการ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยสมัครใจ แนวทางการส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมตระหนัก และร่วมกันพยายามลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่จะส่งผลกระทบต่อภาวะโลกร้อน จำเป็นต้องสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมให้ตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มาจากกิจกรรมภายในกระบวนการผลิตสู่ชั้นบรรยากาศโลก รวมถึงแนวทางการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิต โดยอาศัยการส่งเสริมให้มีการกำหนดเป้าหมายการลดในรายสาขาการผลิต เพื่อกำหนดระดับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร่วมกันระหว่างผู้ผลิต โดยผู้ผลิตไม่ว่าจะเป็นภายใน ประเทศที่พัฒนาแล้ว หรือผู้ผลิตในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาก็ตาม ซึ่งในแต่ละสาขาอุตสาหกรรมสามารถตกลงเจรจากำหนดเป้าหมายกันได้เองโดยสมัครใจ 

จากแนวทางดังกล่าวข้างต้นองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ร่วมกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จึงได้มีความประสงค์ที่จะริเริ่มโครงการนำร่อง Emission Trading Scheme (ETS) ในนิคมอุตสาหกรรม (การพัฒนาตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจในนิคมอุตสาหกรรม) โดยมีคณะผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรมจากศูนย์วิจัยนิเวศวิทยาอุตสาหกรรม คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นทีมงานที่ปรึกษาหลัก เพื่อวางเป้าหมายให้กลุ่มผู้ประกอบการโรงงานที่ตั้งอยู่ภายในนิคมอุตสาหกรรมนำร่อง ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมบางปู นิคมอุตสาหกรรมบางพลี และนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง เริ่มศึกษาสถานภาพการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นภายในกระบวนการผลิตของตนเอง อันจะเป็นรากฐานสำคัญสำหรับการกำหนดเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยสมัครใจ และนำผลที่ได้มาใช้ในการจัดการเชิงกลยุทธ์ และเชิงนโยบายของโรงงานในการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นภายในกระบวนการผลิต รวมถึงใช้เป็นรากฐานสำคัญสำหรับการกำหนดเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยสมัครใจ และศึกษาความเป็นไปได้เบื้องต้นในการพัฒนาโครงการภายใต้กลไกการพัฒนาที่สะอาดในรูปแบบรายโครงการ และโครงการ CDM แบบรวมโครงการตามแผนงาน (Programmatic CDM: PoA CDM) ต่อไปในอนาคต 

วัตถุประสงค์ 
1. เพื่อศึกษาสถานภาพการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโรงงานภายในนิคมอุตสาหกรรม และเพื่อให้ทราบถึง hot spot ภายในกระบวนการผลิตของโรงงาน ที่จะสามารถดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
2. เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆและการพัฒนาโครงการ CDM แบบรายโครงการ และ PoA CDM เพื่อขายคาร์บอนเครดิต 

ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมนิเวศวิทยาอุตสาหกรรม อาคาร 1 ชั้น 3 คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
โทรศัพท์ 02-4415000 ต่อ 1001 และ 080-4273500 โทรสาร 02-4419509-10

free hit counters