การวิเคราะห์ก๊าซเรือนกระจกและพัฒนาแนวทางการปรับตัวสู่เมืองคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน

  • "การวิเคราะห์ก๊าซเรือนกระจกและพัฒนาแนวทางการปรับตัวสู่เมืองคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน"
  • "ชุดโครงการชุดโครงการเมืองยั่งยืน "

การวิเคราะห์ก๊าซเรือนกระจกและพัฒนาแนวทางการปรับตัวสู่เมืองคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน

(Greenhouse Gas Analysis and Adaptation for Sustainable Low Carbon City)

บทสรุปย่อผู้บริหาร

คุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยภายในเมือง ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่สามารถสะท้อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมภายในเมืองได้ หากเพียงแต่ในปัจจุบันนี้ พบว่า คุณภาพชีวิตของผู้คนในชุมชน กลับแปรผกผันกับความเจริญก้าวหน้า ทั้งนี้เนื่องมาจากผลกระทบจากภายนอกและภายในบริบทของชุมชนเมืองเอง ซึ่งหนึ่งในผลกระทบที่กำลังทวีความรุนแรงนั้นคือ ปัญหาผลกระทบจากภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีต้นตอของสาเหตุคือกิจกรรมของชุมชนเอง ตั้งแต่ การเร่งบริโภคทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัด การสร้างปัญหามลพิษในเมือง และการเพิกเฉยต่อการขยายตัวของเมืองอย่างไร้ทิศทาง ด้วยเหตุดังกล่าวนี้เอง รัฐบาลไทย ได้กำหนดยุทธศาสตร์ชาติ ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเป็นรูปธรรม ให้ได้ร้อยละ 20-25 ภายในปี พ.ศ. 2573 ภายใต้แนวคิด “เมืองคาร์บอนต่ำ” อย่างไรก็ตามเพื่อให้เกิดองค์ความรู้ และสามารถนำไปปฏิบัติได้ของแต่ละเมืองจำเป็นที่จะต้องมีการวางกรอบในการศึกษาก๊าซเรือนกระจกระดับเมือง เพื่อที่จะสามารถวางแผนในการแก้ไขผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไม่ใช่แต่เพียงการแก้ไขในเชิงเทคนิค แต่เป็นการให้ความเข้าใจในเรื่องการปรับตัวของชุมชน นำไปสู่การลดก๊าซเรือนกระจกอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน

การประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับเมือง (City Carbon Footprint: CCF) ถือเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการเข้าสู่การเป็นเมืองคาร์บอนต่ำ ทั้งนี้ปัจจุบันการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับเมืองยังมีข้อจำกัดอยู่หลายประการ ซึ่งสิ่งที่สำคัญที่สุดคือกระบวนการการจัดเก็บข้อมูลและการติดตามข้อมูลอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการจัดเก็บข้อมูลในระดับเมืองจะต้องมีความเกี่ยวข้องกับข้อมูลในหลายฝ่าย เช่น การใช้ไฟฟ้าของเมือง การใช้เชื้อเพลิงในภาคครัวเรือน อุตสาหกรรมและภาคขนส่งของเมือง เป็นต้น ดังนั้นการสร้างระบบการจัดเก็บข้อมูลที่ง่ายและสะดวกกับผู้ให้ข้อมูลถือเป็นประเด็นสำคัญที่จะเป็นพื้นฐานให้เกิดระบบฐานข้อมูลที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน อีกทั้งการนำเสนอข้อมูลแบบเรียลไทม์ เพื่อเป็นข้อมูลที่สามารถเข้าถึงภาคประชาชนให้คนในชุมชนเกิดความตื่นตัว นำไปสู่แนวทางการประยุกต์ใช้เพื่อการปรับตัวได้อย่างเหมาะสม รวดเร็วและทันต่อสถานการณ์

ด้วยเหตุนี้การผลักดันองค์กรปกครองท้องถิ่นให้สามารถบรรลุเป้าหมายเมืองคาร์บอนต่ำได้นั้นถือเป็นงานที่เร่งด่วนและสำคัญของประเทศที่จะนำมาปฏิบัติได้จริงในระดับชุมชน ดังนั้นโครงการวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์ 3 ข้อ คือ

  1. ศึกษาแนวทางเมืองต้นแบบอย่างน้อย 2 แห่ง โดยแบ่งเป็นเทศบาลระดับตำบล 1 แห่ง และระดับเมือง 1 แห่ง ทำการวิเคราะห์และประเมินปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของเมือง ณ ปีฐาน ในกรณีเศรษฐกิจปกติ (Business As Usual: BAU)
  2. เพื่อพัฒนาระบบเว็บไซต์กรอกข้อมูล วิเคราะห์ แสดงข้อมูลก๊าซเรือนกระจกแบบออนไลน์ และพัฒนาฐานข้อมูลก๊าซเรือนกระจกระดับเมือง โดยพัฒนาการเก็บข้อมูลอย่างง่ายและรวบรวมฐานข้อมูลแบบออนไลน์ โดยพัฒนาการจัดการระบบข้อมูลให้สามารถใช้งานได้สะดวกและง่ายขึ้นสามารถกรอกข้อมูลได้ง่าย ไม่ซับซ้อน
  3. เพื่อพัฒนาแนวทางการลดและปรับตัวของเมืองที่เหมาะสม (Best Practice) สู่การเป็นเมืองคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน โดยให้มีการระดมความคิดเห็นกับชุมชน เพื่อให้ประชาชนในเขตพื้นที่เป็นผู้ตัดสินใจในการจัดทำทางเลือก (Option) ที่สามารถดำเนินกิจกรรมได้ตามสภาพความเป็นจริงของเมือง โดยทางเลือก (Option) การพัฒนาสู่เมืองคาร์บอนต่ำประกอบด้วย
    1. ทางเลือกทางด้านพลังงานเป็นการดำเนินกิจกรรมเพื่อลดการใช้พลังงานและ/ หรือการเพิ่มการใช้พลังงานทดแทน
    2. ทางเลือกทางด้านการจัดการขยะ เป็นการดำเนินกิจกรรมเพื่อลดปริมาณขยะ ณ ต้นทาง เพื่อให้ลดปริมาณการนำขยะเข้าสู่บ่อฝังกลบ
    3. ทางเลือกด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การเพิ่มพื้นที่สีเขียว เป็นต้น จากนั้นจะทำการวิเคราะห์และพยากรณ์ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเทียบกับกรณี BAU ด้วยวิธีการแบบ AIM/Backcasting ให้ทราบแนวโน้มการปล่อยและการจัดการก๊าซเรือนกระจกตามบริบทการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมของเมืองได้

    *คำสำคัญ ก๊าซเรือนกระจก เมืองคาร์บอนต่ำ การพยากรณ์

    *Keywords Greenhouse Gas, Low Carbon City, Adaptation, Sustainable

    ดาวโหลดเอกสารโครงการ