• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  22 เมษายน 2567

ที่มา : https://www.nationtv.tv/gogreen/378942825

วันที่ 22 เมษายน ของทุกปี “วันคุ้มครองโลก” ได้รับการประกาศจาก โครงการสิ่งแวดล้อมสหประชาชาติ (United Nations Environment Program “UNEP”) ตั้งแต่พ.ศ. 2513 โดยทั่วโลกจะจัดกิจกรรมวันคุ้มครองโลกเป็นประจำทุกปี

ประเทศไทย ได้มีจัดกิจกรรมอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเช่นกัน โดยเริ่มจากการรณรงค์วันคุ้มครองโลก ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2533 โดยโรงเรียนสอนภาษาสมาคมนักเรียนเก่าสหรัฐอเมริกา

ทั้งนี้ ปี พ.ศ. 2533 ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญสำหรับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในประเทศไทย อันเป็นผลจากการเสียชีวิตของสืบ นาคะเสถียร หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง นักวิชาการ และนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ที่ตัดสินใจปลิดชีพตัวเองในวันที่ 1 ก.ย.2533 ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ประเทศไทยมีการตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างมาก

คณะอาจารย์และนักศึกษาจาก 16 สถาบัน ได้ร่วมกันจัดงานวันคุ้มครองโลกขึ้นจากนั้นเป็นต้นมาจึงได้มีการรณรงค์อนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้คนและหน่วยงานต่าง ๆ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงผลกระทบอันร้ายแรงจากการกระทำของมนุษย์ที่มีต่อสิ่งแวดล้อมและโลกของเรา


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  21 เมษายน 2567

ที่มา: https://www.bangkokbiznews.com/environment/1122739

นางชัยลดา ตันติเวชกุล รองกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) หรือ SPC เปิดเผยว่า สหพัฒน์ รวมพลังความร่วมมือของภาคธุรกิจ ภาคสังคม และภาคชุมชน ได้แก่ วัดจากแดง ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) (OSP) และ บริษัท พริ้นซิเพิล แคปิตอล จำกัด (มหาชน) (PRINC) ร่วมเดินหน้าโครงการ “สถานีขยะล่องหน รวมพลังมหาชุมชน คุ้งบางกะเจ้า” ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 โดยยังคงมุ่งสร้างการตระหนักรู้ในเรื่องการบริหารจัดการขยะ ดูแลสิ่งแวดล้อมของชุมชน ณ บริเวณคุ้งบางกะเจ้า

สำหรับปีนี้ แคมเปญได้เปิดรับประเภทขยะเพิ่มขึ้น ได้แก่ ถุงวิบวับ หรือซองบรรจุภัณฑ์เรียกว่า Multi – Layer Plastic เพิ่มเติม ซึ่งวัดสามารถนำมาผ่านกระบวนการแยกเป็นเชื้อเพลิง และอะลูมิเนียมเพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด สหพัฒน์พร้อมร่วมมือกับทางโครงการเพิ่มคะแนนในส่วนของถุงวิบวับเข้ามา เพื่อให้คนในชุมชนได้แยกขยะเพิ่มขึ้น และได้แลกสินค้าของสหพัฒน์ที่จัดจำหน่ายไปใช้ ทางโครงการก็สามารถนำซองขยะประเภทนี้ได้มีทางไปต่อ และใช้เกิดประโยชน์สูงสุดจากขยะกำพร้า สู่ขยะล่องหน

นอกจากนี้ ยังมีการปรับสินค้าให้เหมาะสมกับความต้องการของชาวบ้านเพื่อช่วยลดค่าครองชีพ นับว่ามีผลตอบรับที่ดี ชุมชนมีจิตสำนึก และเริ่มทำเป็นนิสัย ได้เห็นพัฒนาการ และผลลัพธ์ทางสังคม และสิ่งแวดล้อมในคุ้งบางกะเจ้าทั้งด้านปริมาณขยะที่ชุมชนคัดแยก และส่งมายังวัดจากแดงเพิ่มขึ้นทุกปี สำหรับจำนวนขยะที่เข้ามาแลกสินค้าของสหพัฒน์เพิ่มมากขึ้น เป็นไปตามเป้าหมายของโครงการที่มุ่งสร้างความแข็งแรงให้กับชุมชน โดยสหพัฒน์มีการเดินสายเพื่อให้ความรู้ ความเข้าใจในเรื่องการแยกขยะ และแยกถุงวิบวับโดยเฉพาะ เพื่อส่งมาที่วัดจากแดงก่อนเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลต่อไป ซึ่งในอนาคตทางสหพัฒน์มีแผนจะขยายโครงการออกไปเนื่องจากมองว่ามีประโยชน์ต่อคนในชุมชน ทำให้ชุมชนแข็งแรงมีจิตสำนึกที่ดีและเกิดความร่วมมือร่วมใจของคนในพื้นที่

สำหรับผลการดำเนินงาน “สถานีขยะล่องหน รวมพลังมหาชุมชน คุ้งบางกะเจ้า” ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ส่งเสริมการบริหารจัดการขยะในคุ้งบางกะเจ้ารวม 378,759 กิโลกรัม ลดปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ 341,559 kgCO2e เทียบเท่าการปลูกต้นไม้ 37,951 ต้น และในปี 2567 มีเป้าหมายว่าโครงการจะสามารถขับเคลื่อนให้ชุมชน หน่วยงาน ร้านค้า จัดการคัดแยกขยะได้ 500,000 กิโลกรัม เพิ่มขึ้นกว่า 40% จากปีก่อน


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  20 เมษายน 2567

ที่มา : เดลินิวส์ออนไลน์  (https://www.dailynews.co.th/news/3353442/)

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือทส. ได้แนะนำการบริหารจัดการขยะที่เกิดขึ้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ว่า ส่วนใหญ่จะเป็นขยะอาหารรองลงมาเป็นขยะบรรจุภัณฑ์ ขยะทั่วไป ส่วนใหญ่จะเป็นขวดนํ้าพลาสติก ถุงขนม กล่องใส่อาหาร ซองพลาสติกบรรจุของอุปกรณ์เล่นนํ้าสงกรานต์ ซึ่งการจัดการขยะในช่วงหลังเทศกาลสงกรานต์ หากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดไม่ได้มีมาตรการรองรับหรือรณรงค์ให้ประชาชนป้องกันไม่ให้เกิดขยะตั้งแต่ต้น เช่น การไม่นำขยะเข้ามาภายในงาน นำเฉพาะอุปกรณ์มาเล่นนํ้าเท่านั้น หรือการลดการเกิดขยะโดยใช้ภาชนะที่สามารถใช้ซํ้าได้ และเตรียมภาชนะในการคัดแยกขยะวางไว้จุดต่าง ๆ เพื่อสะดวกในการรวบรวม เป็นต้น จะส่งผลให้มีปริมาณขยะจำนวนมากปะปนกันซึ่งจะเป็นภาระกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเองในการเก็บรวบรวม ขนส่งและกำจัด ทั้งนี้ เมื่อเกิดเป็นขยะแล้วองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่มีการจัดงานควรดำเนินการ ดังนี้

1.ทำความสะอาด และขนย้ายขยะทั้งหมดไปยังสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยทันทีภายหลังการจัดงาน

2.คัดแยกขยะที่ยังสามารถใช้ประโยชน์ได้ อันได้แก่ ขยะรีไซเคิลหรือขยะบรรจุภัณฑ์ เพื่อนำไปทำความสะอาดและจำหน่ายกับร้านรับซื้อของเก่าเพื่อลดปริมาณขยะที่ต้องนำไปกำจัด

3.กรณีที่สถานที่จัดงานที่มีการแยกโซนอาหารหรือแยะขยะอาหารให้นำขยะอาหารไปใช้ประโยชน์ เช่น อาหารสัตว์ ปุ๋ยหมัก นํ้าหมัก เป็นต้น

4.นำขยะที่เหลือจากการคัดแยกและใช้ประโยชน์แล้วไปกำจัดอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการต่อไปหากมีมาตรการรองรับในการจัดการกับขยะในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่เหมาะสมจะช่วยลดปริมาณขยะและสามารถนำขยะไปใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยไม่ต้องเสียเวลาหรืองบประมาณในการดำเนินการภายหลัง ดังนั้น หากพื้นที่ใด ยังคงมีงานฉลองเทศกาลสงกรานต์ต่อเนื่อง หรือจะจัดงานรื่นเริงอื่นใดก็สามารถดำเนินการหรือประยุกต์ใช้ได้ตามมาตรการในการจัดการขยะ ดังนี้

1. ไม่ให้นำขยะเข้าภายในงาน สามารถนำเฉพาะอุปกรณ์เล่นน้ำเท่านั้น และมีจุดบริการน้ำ หรือขายน้ำภายในงาน วิธีนี้เป็นวิธีที่ดีที่สุด เข้ามาภายในงานตัวเปล่า ไม่เกิดขยะ

2. จัดจุดสำหรับทานอาหารโดยเฉพาะ เพื่อควบคุมให้สามารถจัดการแยกขยะเศษอาหารต่าง ๆ ไปจัดการได้ ไม่เปื้อนในบริเวณอื่น รวมถึงงดการใช้ภาชนะแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ใช้ภาชนะที่สามารถใช้ซ้ำ เพื่อลดขยะ และไม่ให้นักท่องเที่ยวนำออกนอกบริเวณที่กำหนดไว้

3. จัดเตรียมภาชนะสำหรับทิ้งขยะ บริเวณใกล้ทางเข้าและทางออกของสถานที่จัดงานเพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว

4. ทานอาหารให้เรียบร้อยก่อนจะมาเล่นน้ำในสถานที่จัดงาน จะได้ไม่มีเศษอาหารต้องทิ้งในงาน และไม่นำสิ่งที่เป็นขยะเข้าไปในงาน

5. เล่นน้ำและใช้อุปกรณ์เล่นน้ำแบบปกติที่สามารถใช้ซ้ำได้ ถ้าน้ำหมดสามารถไปเติมตามจุดบริการต่าง ๆ ได้เพียงเท่านี้ ประชาชนทุกคนจะสนุกในทุกงานและเทศกาล ไม่สร้างภาระขยะให้ต้องตามมาเก็บ


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  19 เมษายน 2567

ที่มา https://www.prachachat.net/sd-plus/sdplus-sustainability/news-1545483

สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย เปิด 10 เรื่องต้องรู้ Green Chongqing การพัฒนานครฉงชิ่งสู่ความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

เมื่อเร็ว ๆ นี้ สมาคมด้านพลังงานของเมืองฉงชิ่ง ร่วมมือกันจัดการประชุมและศึกษาดูงานด้านการพัฒนาเมือง โดยได้เชิญนักวิชาการจากสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย หรือ TEI ซึ่งมี “เบญจมาส โชติทอง” และ “วิลาวรรณ น้อยภา” เข้าร่วมประชุมครั้งนี้ พร้อมได้เรียบเรียงข้อมูลเกี่ยวกับGreen Chongqing 10 เรื่องต้องรู้ นครฉงชิ่งสู่ความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ได้แก่ 1.ด้านภูมิทัศน์2.บทบาททางสังคม 3.การขยายชุมชนเกษตรอินทรีย์ 4.การแยกสีป้ายทะเบียนรถยนต์ 5.การพัฒนาเทคโนโลยีระบบชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า 6. สถานีสลับแบตเตอรี่สำหรับรถแท็กซี่ไฟฟ้า 7.การเกิดธุรกิจด้านพลังงานสะอาด 8.การให้บริการแบบครบวงจรของบริษัทผลิตอุปกรณ์ด้านพลังงานแสงอาทิตย์ 9. พัฒนาระบบเก็บพลังงาน (Energy storage) ในรูปแบบต่าง ๆ 10. ความร่วมมือวิจัยด้านพลังงาน เทคโนโลยี และนวัตกรรมของนักวิชาการ

การพัฒนาด้านพลังงานสะอาดของจีนรุดหน้าไปมาก ได้มีการพัฒนาโครงสร้างทางพลังงานที่ไม่ใช่เชื้อเพลิงฟอสซิลกระจายทั่วประเทศ แต่ปัจจุบันจีนยังใช้แหล่งพลังงานส่วนใหญ่จากถ่านหินกว่า 50% และน้ำมันดิบเกือบ 20%ขณะเดียวกันจีนมีการใช้พลังงานเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  18 เมษายน 2567

ที่มา: https://www.bangkokbiznews.com/environment/1122216

เทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อมกลายเป็นอีกหนึ่งแขนงของนวัตกรรมที่ได้รับความสนใจทั่วโลก เนื่องจากสภาวะวิกฤตการณ์การเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ ส่งผลให้นานาชาติหันมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยวิถีทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น หนึ่งในเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมที่น่าสนใจคือ พลังงานสะอาด เช่น พลังงานลม และพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นหัวใจของการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมไร้คาร์บอน อย่างไรก็ตาม ยังมีพลังงานอีกชนิดหนึ่งที่ทั่วโลกให้ความสนใจอย่างยิ่ง คือ Green Hydrogen ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานสีเขียวที่สะอาด ปลอดภัย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ไฮโดรเจน คือ ธาตุที่สามารถนำมาใช้เป็นแหล่งพลังงานโดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรม แต่การนำไฮโดรเจนออกมาใช้ต้องมีการแยกไฮโดรเจนจากสิ่งอื่น ๆ เช่น เชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งกระบวนการผลิตจะมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาในชั้นบรรยากาศ ทำให้ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเท่าที่ควร Green Hydrogen จึงกลายเป็นหนึ่งในแนวทางที่ช่วยแก้ปัญหานี้ เนื่องจากวิธีการผลิต Green Hydrogen นั้น แทบจะไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาสู่ชั้นบรรยากาศ การผลิตใช้เชื้อเพลิงทางเลือกที่มาจากแหล่งพลังงานคาร์บอนต่ำ อาทิ พลังงานลม และพลังงานแสงอาทิตย์ ทำให้ Green Hydrogen เปรียบเสมือนพลังงานแห่งอนาคตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และไม่ทำลายระบบนิเวศวิทยา

โดยปกติก๊าซไฮโดรเจนสามารถถูกพบได้น้อยตามธรรมชาติ เช่น ใต้พื้นผิวโลก ไฮโดรเจนชนิดนี้ถูกเรียกว่า White Hydrogen ส่วนก๊าซไฮโดรเจนชนิดอื่น ๆ นั้นสามารถแบ่งได้ตามวิธีการสังเคราะห์ ซึ่งประกอบด้วย 3 รูปแบบหลัก ได้แก่

1. Grey hydrogen คือ ไฮโดรเจนที่ผลิตขึ้นโดยใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่ใช้แล้วหมดไป เช่น ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากกระบวนการผลิตมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ส่งผลให้เกิดมลภาวะในชั้นบรรยากาศเป็นจำนวนมาก

2. Blue hydrogen คือ ไฮโดรเจนที่ผลิตขึ้นโดยใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเช่นเดียวกับ Grey hydrogen แต่มีการใช้เทคโนโลยีการดักจับและกักเก็บคาร์บอนไว้ในพื้นดิน ทำให้ไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งเป็นไฮโดรเจนทางเลือกที่สะอาดกว่า

3. Green hydrogen คือ ไฮโดรเจนที่ผลิตขึ้นจากแหล่งพลังงานสะอาด อาทิ ลม แสงอาทิตย์ และน้ำซึ่งเป็นพลังงานที่ไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิตและสามารถหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ได้


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  17 เมษายน 2567

ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์ (https://www.thairath.co.th/futureperfect/articles/2778759)

จบสงกรานต์ ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ส่องกองทัพ เจ้าหน้าที่ กทม. ระดมกวาดถนน “ข้าวสาร” เคลียร์ขยะทำความสะอาดพื้นที่ พบปืนฉีดน้ำ ถังน้ำ พลาสติก เกลื่อน วันที่ 16 เม.ย.67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร บุกถนนข้าวสาร เขตพระนคร ตรวจพื้นที่และให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ ฮีโร่ตัวจริงผู้อยู่เบื้องหลังความสะอาดถนนข้าวสารหลังจบงานสงกรานต์เมื่อคืนที่ผ่านมา โดยเดินลัดเลาะไปตามถนนรามบุตรี ทะลุถนนจักรพงษ์ ซึ่งพื้นถนนขาวโพลนไปด้วยแป้ง ขยะ ขวดแก้ว ลังกระดาษ ปืนฉีดน้ำ ถังน้ำ กระป๋องแป้ง ฯลฯ โดยเจ้าหน้าที่เริ่มทำความสะอาดตั้งแต่เวลา 04.00 น. พร้อมรถน้ำกว่า 6 คัน เก็บกวาดขยะ จัดเก็บอุปกรณ์ และฉีดล้างทำความสะอาดถนนข้าวสาร และพื้นที่โดยรอบ ซึ่งคาดว่าจะทำความสะอาดแล้วเสร็จในช่วงบ่ายวันนี้ “หลังทุกคนสนุกกัน จากนั้นก็เป็นหน้าที่เราที่ต้องมาล้างทำความสะอาดกันต่อไป ขอบคุณพี่กวาดทุกคนผู้ที่ช่วยทำให้เมืองเราเรียบร้อยขึ้น” ซึ่งจากการจัดงานสงกรานต์ถนนข้าวสารในปีนี้ ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ได้กำชับให้เขตพระนครถอดบทเรียน คือ ในช่วงจัดงานวันแรกมีหาบเร่แผงลอยที่ตั้งกีดขวางทางเท้าทำให้เดินยาก ต่อมาวันที่ 14 เม.ย. เขตฯ ได้ย้ายแผงค้าออก เพื่อให้เคลื่อนตัวได้ดีขึ้น การจัดทางเข้างานแบบ One..Way..แม้เดินอ้อมขึ้น แต่ทำให้คนเดินได้สะดวก รวมถึงเพิ่มเสาปลอดภัยอัจฉริยะด้วย ทั้งนี้ ข้อมูลจากสำนักงานเขตพระนคร ปริมาณขยะถนนข้าวสารและพื้นที่โดยรอบ ระหว่างวันที่ 12-14 เม.ย. 67 รวมทั้งสิ้น 116 ตัน แบ่งเป็น วันที่ 12 เม.ย. จำนวน 12 ตัน วันที่ 13 เม.ย. จำนวน 15 ตัน วันที่ 14 เม.ย. จำนวน 15 ตัน รวม 3 วัน จำนวน 42 ตัน และพื้นที่โดยรอบถนนข้าวสาร รวม 74 ตัน


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  16 เมษายน 2567

ที่มา https://www.thairath.co.th/futureperfect/articles/2775786

ขยะพลาสติกเป็นปัญหาใหญ่ด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย และหนึ่งในปัญหาใหญ่ที่ทำให้เกิดขยะพลาสติกตกค้างในสิ่งแวดล้อม คือ การไม่คัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง การทิ้งขยะพลาสติกกระจัดกระจาย ก่อให้เกิดปัญหาการอุดตันตามท่อระบายน้ำ ขยะลอยในแม่น้ำลำคลอง บางส่วนไหลลงสู่ทะเล

“ฝาพลาสติก” เป็นหนึ่งใน 5 อันดับแรกของขยะที่พบมากที่สุดบนชายหาดทั่วโลก เพราะ “ฝาขวด” มักถูกทิ้งไว้กระจัดกระจาย ไม่ได้ติดอยู่กับตัวขวด ทำให้ยากต่อการเก็บรวบรวม โออิชิ กรีนทีในฐานะผู้ผลิต จึงมีความมุ่งมั่นร่วมแก้ไขปัญหาดังกล่าว ด้วยการสร้างสรรค์ฝาขวด PET ดีไซน์ใหม่ หรือฝาขวดรักษ์โลก ที่ติดอยู่กับขวด เพื่อลดการทิ้งขยะแยกชิ้น

โดยได้ตั้งเป้าเปลี่ยนฝาขวดดีไซน์ใหม่กับผลิตภัณฑ์ทุกรสชาติและทุกขนาด ประเดิมในไตรมาส 2/2567 ซึ่งเราหวังว่าจะเป็นอีกหนึ่งก้าวของการสร้างความยั่งยืนให้กับโลก และเชื่อว่าจะสร้างประสบการณ์การดื่มที่ดีขึ้นให้กับผู้บริโภค เพราะเมื่อเปิดขวดแล้ว ฝาขวดยังคงอยู่กับขวด โดยไม่ต้องแยกถือขวดกับฝา


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  15 เมษายน 2567

ที่มา: https://www.technologychaoban.com/bullet-news-today/article_274831

กรมประมง ได้จัดตั้งโครงการ “ขยะคืนฝั่ง ทะเลสวยด้วยมือเรา” ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดติดทะเลจำนวน 23 จังหวัด และได้นำหลักโมเดลเศรษฐกิจ BCG Model มาประยุกต์ใช้ผ่านกิจกรรมในรูปแบบต่าง ๆ ภายใต้การมีส่วนร่วมของชาวประมง องค์กรชุมชนท้องถิ่น ผู้ประกอบการ และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ปัญหาขยะทะเลได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กรมประมงได้ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการขยะ ซึ่งถือเป็นปัญหาระดับประเทศที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือและให้ความสำคัญ เนื่องจากส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเล และส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อการประกอบอาชีพการทำการประมง โดยการนำแนวคิดไม่สร้างขยะในท้องทะเลและการเก็บขยะในท้องทะเลมาแปลงเป็นทุน สร้างรายได้ให้แก่ชุมชน ปลูกจิตสำนึกและส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมถึงมีการประชาสัมพันธ์ ถ่ายทอดความรู้ถึงปัญหาที่มาของขยะในทะเลและวิธีจัดการกับขยะอย่างถูกต้องเพื่อเป็นการแก้ปัญหาขยะทะเลได้อย่างยั่งยืน สอดคล้องกับนโยบายของ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการให้ความสำคัญในพัฒนาการประมงด้วยหลักโมเดลเศรษฐกิจ BCG Model การใช้ประโยชน์ทรัพยากรประมงและสิ่งแวดล้อมอันอุดมสมบูรณ์ของไทยให้เกิดประโยชน์สูงสุด ควบคู่ไปกับการให้ความสำคัญกับการเกษตรที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม รวมทั้ง Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561 – 2573 และ แผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2563 – 2565 เพื่อร่วมกันนำขยะขึ้นมาจากทะเลและนำไปกำจัด สร้างการตระหนักรู้ และการมีส่วนร่วมในทุกภาคส่วน อันจะทำให้ทะเลไทย เป็น “ทะเลสะอาด”

โดยล่าสุด กรมประมงร่วมกับสมาคมประมงบ้านแหลม ชาวประมงพาณิชย์จังหวัดเพชรบุรี และภาคเอกชนผู้ประกอบการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ได้มีการขยายผลนำขยะทะเลที่เก็บได้เข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลแปรรูปผลิตภัณฑ์ โดยมีกรรมวิธีผลิตด้วยการหลอมแปรรูปขยะเป็นเส้นใยรีไซเคิลผสมกับเส้นใยอื่น จากนั้นนำไปถักทอขึ้นรูปใหม่เป็นเสื้อ โดยเสื้อ 1 ตัวผลิตจากขยะขวดพลาสติกจำนวน 8.5 ขวด ซึ่งเป็นขยะพลาสติกที่ถูกเก็บรวบรวมจากทะเล สอดรับแนวคิดในการใช้ทรัพยากรหมุนเวียนสูงสุด เปลี่ยนขยะให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่า ลดขยะพลาสติกและลดโลกร้อน ผลักดันให้ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ขยายออกไปในวงกว้าง ด้วยแนวคิด “Extended Producer Responsibility (EPR)” คือ การขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตครอบคลุมตลอดห่วงโซ่วงจรผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่ผลิตไปจนถึงขั้นตอนหลังการบริโภค


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.