• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  29 มีนาคม 2567

ที่มา https://www.amarintv.com/news/detail/212004

ในปัจจุบันการสร้างความยั่งยืนเป็นประเด็นที่ภาคเอกชน ตื่นตัวและให้ความสำคัญมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันการดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืนผ่านเกณฑ์ของฉลากสิ่งแวดล้อม ก็ยังอยู่ในวงจำกัด เนื่องจากหลายสาเหตุ อาทิ การสร้างการรับรู้ที่ยังไม่ทั่วถึง การสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของฉลากสิ่งแวดล้อมยังไม่เพียงพอ รวมถึงข้อเสนอหรือแรงจูงใจในการสนับสนุนการใช้ฉลากสิ่งแวดล้อมยังไม่เอื้ออำนวยต่อภาคเอกชนเท่าที่ควร ดังนั้น สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย หรือ TEI ตอกย้ำการเป็นองค์กรชั้นนำด้านสิ่งแวดล้อม ที่น่าเชื่อถือและพึ่งพาได้ พร้อมขับเคลื่อนนโยบายการจัดการสิ่งแวดล้อมเชิงรุก สู่การปฏิบัติร่วมกับภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม ด้วยหลักธรรมาภิบาล จึงเดินหน้าเปิดเวทีเสวนา ในหัวข้อ “มารักษ์กัน เพื่อการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนด้วยฉลากเขียว” 

“การแก้ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม หรือสภาพภูมิอากาศไม่ใช่หน้าที่หลักของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หากแต่ประชากรของโลกจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องร่วมมือกันในทุกภาคส่วน ในฐานะสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย มีหน้าที่เผยแพร่ชุดข้อมูล สร้างการตระหนักรู้ โดยเฉพาะ “ฉลากเขียวและฉลากสิ่งแวดล้อม” ให้แก่ภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ รวมถึงประชาชนในการทำความเข้าใจ ให้รับรู้ถึงความหมายที่แท้จริง เพื่อผลดีของการเลือกซื้อ เลือกใช้สินค้าและบริการที่มีฉลากเขียวกำกับ”

 อย่างไรก็ดี การคาดหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม สภาพภูมิอากาศ อาจต้องใช้เวลา แต่ขณะนี้ทั่วโลกเริ่มตระหนักกันมากขึ้นแล้ว ทั้งการเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าแทนรถยนต์สันดาป เราแค่ต้องสื่อให้ทุกคนได้รับรู้ว่า การแก้ปัญหาในเรื่องนี้ไม่สามารถทำได้เพียงคนเดียว หรือองค์กรเดียว ความยั่งยืนจะเกิดขึ้นหากทุกฝ่ายร่วมมือกัน เพราะเรื่องสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรื่องของคนใดคนหนึ่งแต่เป็นเรื่องของคนทุกคน


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  28 มีนาคม 2567

ที่มา: https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/80968

พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) เป็นประธานการประชุมผู้บริหารกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 1/2567 พร้อมด้วย ร.อ.รชฏ พิสิษฐบรรณกร ผู้ช่วย รมว.ทส. นายโกเมนทร์ ทีฑธนานนท์ ที่ปรึกษา รมว.ทส. นายนพดล พลเสน เลขานุการ รมว.ทส. นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงฯ ตลอดจนผู้บริหารระดับสูง และผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ ณ ห้องประชุม 202 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ที่ประชุมฯ ได้ติดตามความก้าวหน้าของโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยรมว.ทส. ได้สั่งการให้แต่ละหน่วยงานพิจารณาทบทวนและเพิ่มเติมรายละเอียดโครงการ/กิจกรรม ให้เชื่อมโยงกับพระราชกรณียกิจ น้อมนำพระราชปณิธาน พระราชดำริ พระบรมราโชวาทที่เป็นการสืบสาน รักษา ต่อยอด ที่สอดคล้องกับภารกิจของหน่วยงาน และเร่งรัดการดำเนินงานจัดโครงการ/กิจกรรมอย่างสมพระเกียรติ พร้อมสั่งการให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมป่าไม้ และกรมควบคุมมลพิษ ร่วมกันวางแนวทางการแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 อย่างจริงจัง เตรียมพร้อมรับมือและปฏิบัติการเชิงรุกในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ป้องปรามและจับกุมการเผาป่า และควบคุมเฝ้าระวังสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ไม่ให้เกินค่ามาตรฐาน เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ และมอบหมายให้กรมทรัพยากรน้ำและกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ร่วมกันวางแผนช่วยเหลือประชาชนในช่วงภัยแล้งไม่ให้ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค รวมถึงดูแลแหล่งน้ำผิวดินในพื้นที่และหาแหล่งน้ำใต้ดินเพิ่มเติม

นอกจากนี้ รมว.ทส. ยังได้เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เน้นย้ำต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน รวมถึงการเตรียมข้อมูลการอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรีโดยไม่มีการลงมติ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 152 รวมถึงเน้นย้ำนโยบายการแก้ไขปัญหาลิงรบกวนประชาชน โดยให้ประสานความร่วมมือกับผู้ว่าราชการจังหวัดและท้องถิ่น การแก้ไขปัญหาหญ้าทะเลเสื่อมโทรม เพื่อการอนุรักษ์พะยูน การเร่งขับเคลื่อนการดำเนินงานลดก๊าซเรือนกระจกให้บรรลุเป้าหมายของไทยที่ได้ตั้งไว้ และการเร่งผลักดันการขึ้นทะเบียนแหล่งมรดกโลก และรักษาสถานภาพของแหล่งเดิม


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  27 มีนาคม 2567

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ (https://www.bangkokbiznews.com/environment/1119515)

ทำความรู้จัก “สนธิสัญญาพลาสติกโลก” หรือ “Global Plastic Treaty” เตรียมประกาศใช้ในปี 2568 ความหวังที่จะแก้ไข “ปัญหาขยะพลาสติก” และอาจเป็นข้อตกลงพหุภาคีด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญที่สุดตั้งแต่ความตกลงปารีส “ขยะพลาสติก” กลายเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก หลายประเทศประสบกับปัญหา “ขยะล้นเมือง” แต่นั่นยังไม่เป็นอันตรายเท่ากับ “ไมโครพลาสติก” พลาสติกที่แตกตัวออกกลายเป็นชิ้นส่วนขนาดเล็กที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ซึ่งสามารถพัดพาไปทั่วโลก แม้แต่ในพื้นที่ห่างไกลที่สุดอย่างขั้วโลกเหนือก็ยังพบไมโครพลาสติก ไมโครพลาสติก กลายเป็นมลพิษที่ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม ทั้งในแหล่งน้ำ พื้นดิน และในอากาศ แทรกแซงห่วงโซ่อาหาร มีการศึกษาหลายชนิดที่ ตรวจพบไมโครพลาสติก และนาโนพลาสติกหลายประเภทในเนื้อเยื่อของมนุษย์ รวมถึงลำไส้ใหญ่ ตับ ม้าม ต่อมน้ำเหลือง รก และแม้แต่ในเลือดของมนุษย์ ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ผู้นำจากประเทศทั่วโลก จึงได้พยายามผลักดันให้เกิด “สนธิสัญญาพลาสติกโลก” เพื่อแก้ปัญหาขยะพลาสติก กำเนิด “สนธิสัญญาพลาสติกโลก” 2 มีนาคม 2565 มีการประชุมสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEA) ณ กรุงไนโรบี ประเทศเคนยา ในโอกาสนั้น ผู้นำจากประเทศทั่วโลกได้มีมติสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติที่ 5/14 กำหนดให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการการเจรจาระหว่างรัฐบาล (Intergovernmental Negotiating Committee – INC) โดยมีภารกิจจัดทำมาตรการที่มีผลผูกพันทางกฎหมายว่าด้วยมลพิษพลาสติก รวมถึงในสิ่งแวดล้อมทางทะเล โดยตั้งอยู่บนฐานของแนวทางที่ครอบคลุมตลอดวงจรชีวิตของพลาสติก หลังจากนั้นการประชุมของ INC จึงเริ่มมีการกล่าวถึง “สนธิสัญญาพลาสติกโลก” หรือ “Global Plastic Treaty” ซึ่งคาดหวังว่าจะมาตรการทางกฎหมายนี้จะต้องมีความสำคัญ และมีขอบเขตอำนาจสูง โดย อิงเจอร์ แอนเดอร์เซน ผู้อำนวยการโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) เคยกล่าวว่า ปัจจุบัน สนธิสัญญาพลาสติกโลก ยังอยู่ในขั้นตอนการร่างกฎหมาย เนื่องจากมีหลาย ประเด็นที่แต่ละประเทศยังตกลงกันไม่ได้ แต่คาดว่าจะได้ข้อสรุปในการประชุม INC-5 ที่จัดขึ้นที่ประเทศเกาหลีใต้ ในช่วงปลายปี 2567 หลังจากนั้นในปี 2568 จะมีการประชุมระหว่างประเทศครั้งใหญ่เพื่อจัดตั้งมาตรการที่มีผลผูกพันทางกฎหมายระหว่างประเทศดังกล่าวอย่างเป็นทางการ และเปิดให้มีการลงนาม


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  26 มีนาคม 2567

ที่มา https://mgronline.com/daily/detail/9670000025677

นับตั้งแต่ต้นปี 2567 เป็นต้นมา ทะเลตรังพบพะยูนเกยตื้นตายแล้ว 4 ตัว โดยที่ผ่านมาจะพบว่า พะยูนเกยตื้นมากที่สุดในช่วงปลายปีประมาณ พ.ย. – ธ.ค. ส่วนที่ตายในปีนี้อาจเกี่ยวเนื่องกับปลายปีที่ผ่านมา คาดว่าในช่วงกลางๆ ปีมีโอกาสการเกิดขึ้นน้อยลง แต่ถือว่าเป็นตัวเลขค่อนข้างน่าเป็นห่วง

จากที่มีการเก็บข้อมูลมาหลายปี สาเหตุหลักของการเกยตื้นส่วนใหญ่เกิดจากอาการป่วย แต่ว่าค่อนข้างวินิจฉัยยาก เพราะส่วนใหญ่พบตอนซากเน่า อวัยวะภายในค่อนข้างที่จะพิสูจน์ยาก ซึ่งกรณีพะยูนตัวล่าสุด พบพยาธิในกระเพาะมากขึ้นชี้ชัดว่ามันป่วย พบหนองพบก้อนเนื้อที่คล้ายมะเร็งลักษณะผิดปกติในอวัยวะภายใน ซึ่งค่อนข้างจะเจอในสัดส่วนเปอร์เซ็นต์ของการเกยตื้น

ทั้งนี้ วิกฤตหญ้าทะเลลุกลามหนัก จ.ตรัง พบเสื่อมโทรมมาตั้งแต่ปี 2562 พบการตายของหญ้ามีเพิ่มขึ้นอีกหลายชนิด เช่น หญ้าคาทะเล หญ้าใบมะกรูด ซึ่งเป็นอาหารของพะยูน จากการสำรวจพบว่ามี 2 เกาะ ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงคือ รอบเกาะลิบง และ บริเวณเกาะมุกด์ กินพื้นที่กว่า 10,000 ไร่

สุดท้ายยังคงต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิด สำหรับการปัญหาการเสื่อมโทรมของแหล่งหญ้าทะเล โดยเฉพาะในทะเล จ.ตรัง และ จ.กระบี่ ตลอดจนการขับเคลื่อนแนวทางอนุรักษ์พะยูนในทะเลไทย ที่ต้องยอมรับว่าเป็นความท้าทายอย่างมาก นับเป็นภารกิจที่ต้องร่วมมือร่วมใจจากทุกฝ่าย


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  25 มีนาคม 2567

ที่มา: https://www.bangkokbiznews.com/environment/1119020

การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ร่วมกับ บริษัท Nomura Jimusho Inc. ลงนาม MOU “โครงการศึกษาวิจัยร่วมการจัดหาเมล็ดยางพาราเพื่อเพิ่มมูลค่า” โดยจะมุ่งวิจัยจัดหาเมล็ดยางพารา แปรรูปเป็นพลังงานทางเลือก หวังสร้างสมดุลนิเวศระยะยาว เพิ่มมูลค่าเมล็ดยางแหล่งรายได้ใหม่เกษตรกร

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่า กยท. ตระหนักถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากภาคการเกษตร โดยเล็งเห็นความสำคัญของการใช้ประโยชน์จากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร โดยเฉพาะเมล็ดยางพารา ซึ่งมีประสิทธิภาพในการเพิ่มมูลค่าผ่านการแปรรูปเป็นวัตถุดิบชีวมวลสำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงชีวภาพ สร้างพลังงานทางเลือกและปรับความสมดุลทางระบบนิเวศในระยะยาว อีกทั้งยังเป็นการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยางพาราสู่ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นช่องทางสร้างแหล่งรายได้ใหม่ให้กับเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อยในอนาคต

การร่วมมือกันในครั้งนี้ว่า ในฐานะที่ กยท. เป็นองค์กรกลางรับผิดชอบดูแลการบริหารจัดการยางพาราในประเทศทั้งระบบ ดำเนินงานโดยมุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวสวนยาง โดยการยกระดับรายได้ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการทำสวนยางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในอาชีพ นายณกรณ์ กล่าวต่อว่า “การร่วมกันศึกษาเมล็ดยางพาราตลอดห่วงโซ่อุปทานในครั้งนี้ จะทำให้ทราบถึงปริมาณและศักยภาพในการใช้เมล็ดยางพาราเป็นสารเติมแต่งทางชีวภาพ ซึ่งนอกจะเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับเมล็ดยางพารา และลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นจากภาคการเกษตรแล้ว ยังทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการจำหน่ายชีวมวล ซึ่งจะพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของเกษตรกรชาวสวนยางได้อย่างยั่งยืน”

ด้าน Mr. Shoji Nomura ประธานบริษัท Nomura Jimusho Inc. กล่าวย้ำถึงความร่วมมือครั้งนี้ว่า ทั้งสองหน่วยงานจะร่วมมือกันสนับสนุนให้เกิดสังคมที่เป็นกลางทางคาร์บอน และสนับสนุนการเติบโตของเกษตรกรชาวสวนยางผู้ปลูกเมล็ดพันธุ์ยางพารา เพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืนสำหรับคนรุ่นต่อไป


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  24 มีนาคม 2567

ที่มา : INN News  (https://today.line.me/th/v2/article/x2BgkP6)

ชัยภูมิ ส่งเสริมชาวบ้านสร้างทักษะการเรียนรู้ตามศาสตร์พระราชา ในโครงการปิดทองหลังพระ สร้างสมดุลการพัฒนา ความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ภายใต้โครงการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมชุมชนตามแผนพัฒนาชนบทเชิงพื้นที่ประยุกต์ตามแนวพระราชดำริ (โครงการปิดทองหลังพระ) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ตามหลักการยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) โดยได้กำหนดวิสัยทัศน์ว่า “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศษฐกิจพอเพียง” ซึ่งมุ่งเน้นการสร้างสมดุลระหว่างการพัฒนาความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนโดยนายอริยะ เชื้อชม ผอ.สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดชัยฎมิ ได้รับนโยบายพร้อมได้สารต่อดำเนินงานแบบมีส่วนร่วมตามโครงการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมชุมชนตามแผนพัฒนาชนบทเชิงพื้นที่ประยุกต์ตามแนวพระราชดำริ (ปิดทองหลังพระ) มุ่งเน้นการน้อมนำแนวพระราชดำริ ของรัชกาลที่ ๙ เผยแพร่สู่ชุชน โดยบูรณาการองค์ความรู้ตามแนวพระราชดำริใน 6 มิติหลัก ได้แก่ มิติด้านการอนุรักษ์น้ำอนุรักษ์ดิน เกษตรทฤษีใหม่ พลังงานทดแทน ฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ และสิงแวดล้อม ทั้งนี้ ต้องอาศัยกระบวนการความร่วมมือกับองค์กรรัฐ สถาบันวิชาการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประชาสังคมและภาคธุรกิจ รวมทั้งยึดหลักการทรงงานเป็นแนวทางหลักในการดำเนินโครงการฯ ตลอดจนพิจารณาความสอดคล้องกับปัญหาและความต้องการของชุมชน เพื่อให้เกิดการพัฒนาชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม โดยจะเป็นการดำเนินกิจกรรม เพื่อพัฒนาองค์ความรู้และนำองค์ความรู้ไปสู่การพัฒนาอาชีพ สร้างรายได้ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  23 มีนาคม 2567

ที่มา https://www.thairath.co.th/futureperfect/articles/2771825

“กัลปังหา” นั้นเป็นพืชใต้ทะเล แต่แท้จริงแล้ว “กัลปังหา” หรือ “Sea Fan” เป็นสัตว์ทะเลไม่มีกระดูกสันหลัง แต่ละตัวมีขนาดเล็กมาก จัดอยู่ในพวกเดียวกับปะการัง ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ตัวกัลปังหา (polyp) ที่มีลักษณะคล้ายดอกไม้ทะเลขนาดเล็ก มีเนื้อเยื่ออ่อนนุ่ม และมีหนวดรอบปากจำนวนแปดเส้น ฝังและกระจายตัวอยู่ตามโครงสร้างของกัลปังหา และอีกส่วนเป็นส่วนโครงสร้างที่เป็นกิ่งแตกกิ่งก้านคล้ายพัดและซี่หวีแล้วแต่ชนิด กิ่งโครงสร้างนี้ตัวกัลปังหาสร้างขึ้นมาเพื่อรองรับตัวเองและเป็นสารจำพวกเขาสัตว์ (keratin) ชอบอาศัยอยู่ตามที่มีกระแสน้ำไหล เนื่องจากกระแสน้ำจะช่วยพัดพาอาหารมาให้ และจะช่วยพัดพาของเสียที่ถูกปล่อยออกจากกัลปังหาออกไป โดยจะใช้หนวดในการดักจับสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กเพื่อนำมาเป็นอาหาร ส่วนเข็มพิษที่หนวดจะช่วยในการจับพวกแพลงก์ตอน

นอกจากนี้ กัลปังหา ยังมีความสำคัญต่อระบบนิเวศทางทะเล เนื่องจากเป็นแหล่งที่อาศัยของสัตว์ทะเลขนาดเล็กหลายชนิดโดยสัตว์เหล่านี้จะเกาะตามกิ่งก้าน


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  22 มีนาคม 2567

ที่มา: https://www.thairath.co.th/futureperfect/articles/2772159

สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย หรือ TEI ตอกย้ำองค์กรชั้นนำด้านสิ่งแวดล้อม แสดงพลังรักษ์โลกขานรับนโยบายกรุงเทพมหานครผ่านการสนับสนุนกิจกรรม “ปิดไฟ 1 ชั่วโมง เพื่อลดโลกร้อน (60+ Earth Hour 2024)” โดยขอเชิญชวนให้ภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน ชุมชน ร่วมกันปิดไฟเป็นเวลา 1 ชั่วโมง ในวันเสาร์ที่ 23 มีนาคม 2567 เวลา 20.30 – 21.30 น. เพื่อลดการใช้พลังงานที่ไม่จำเป็น และหนึ่งแรงขับเคลื่อนในการมีส่วนร่วมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หนึ่งในสาเหตุของภาวะโลกร้อนที่ทวีความรุนแรงในปัจจุบัน

โดย ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย หรือ TEI กล่าวว่า พลังงานเป็นส่วนสำคัญในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยปัจจุบันปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือปัญหาโลกร้อนเป็นหนึ่งปัญหาระดับโลกที่ต้องเร่งแก้ไข และซึ่งสาเหตุหลักของการเกิดปัญหาดังกล่าวมาจากการใช้พลังงานของมนุษย์ ดังนั้นการเข้าร่วมกิจกรรม “ปิดไฟ 1 ชั่วโมง เพื่อลดโลกร้อน (60+ Earth Hour 2024)” เป็นกิจกรรมที่เราสนับสนุนมาอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกันสถาบันฯ เองก็ตระหนักถึงการลดใช้พลังงานในทุก ๆ วัน

ดร.วิจารย์ กล่าวต่ออีกว่า การปิดไฟ 1 ชม. ถือเป็นกิจกรรมดี ๆ ที่ช่วยให้คนหันมาใส่ใจการใช้พลังงาน และถือเป็นจุดเริ่มต้นในการรักษาสิ่งแวดล้อม แต่ถ้าหากจะทำให้คนตื่นตัวกับเรื่องดังกล่าวและมีส่วนร่วมในการลดใช้พลังงานอย่างต่อเนื่อง การสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ประชาชนถึงแนวทางการลดใช้พลังงาน ปัญหาการใช้พลังงานสิ้นเปลือง ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ประชาชนต้องเผชิญ นำไปสู่แนวทางปฏิบัติในการลดใช้พลังงานหรือปรับเปลี่ยนการใช้พลังงาน อาทิ การใช้พลังงานสะอาด พลังงานทดแทน การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและประหยัดพลังงานก็น่าจะส่งผลดีในการลดใช้พลังงานได้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.