• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  15 พฤษภาคม 2567

ที่มา: https://www.theguardian.com/environment/article/2024/may/08/venezuela-loses-its-last-glacier-as-it-shrinks-down-to-an-ice-field

เวเนซุเอลาได้สูญเสียธารน้ำแข็งแห่งสุดท้าย หลังจากที่ละลายไปมากเนื่องจากสภาพอากาศในปัจจุบัน ซึ่งคาดว่าเวเนซุเอลาเป็นประเทศแรกที่สูญเสียธารน้ำแข็งทั้งหมดในยุคปัจจุบัน โดยประเทศนี้มีธารน้ำแข็ง 6 แห่งในเทือกเขา Sierra Nevada de Mérida ซึ่งอยู่เหนือระดับน้ำทะเลประมาณ 5,000 เมตร โดยธารน้ำแข็ง 5 แห่งได้หายไปภายในปี 2554 เหลือเพียงธารน้ำแข็ง Humboldt หรือที่รู้จักกันในชื่อ La Corona

นักวิทยาศาสตร์ได้คาดคะเนว่า ธารน้ำแข็ง Humboldt จะคงอยู่ต่อไปอีกอย่างน้อยหนึ่งทศวรรษ แต่ขณะนี้ จากการประเมินพบว่าธารน้ำแข็งละลายเร็วกว่าที่คาดไว้มาก และหดตัวลงเหลือพื้นที่น้อยกว่า 2 เฮกตาร์ เป็นผลทำให้การจำแนกประเภทถูกลดระดับจากธารน้ำแข็งเป็นทุ่งน้ำแข็ง

Maximiliano Herrera นักอุตุนิยมวิทยาและนักประวัติศาสตร์ด้านสภาพภูมิอากาศระบุว่า อินโดนีเซีย เม็กซิโก และสโลวีเนียเป็นประเทศถัดไปที่จะสูญเสียธารน้ำแข็ง โดยหมู่เกาะปาปัวและเม็กซิโกกำลังเผชิญกับอุณหภูมิที่สูงขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา โดยคาดว่าจะเร่งการละลายของธารน้ำแข็ง ผู้เชี่ยวชาญยังคาดการณ์ด้วยว่า ปรากฏการณ์สภาพภูมิอากาศเอลนีโญจะทำให้อุณหภูมิอุ่นขึ้น ส่งผลให้เกิดการสูญเสียธารน้ำแข็งเขตร้อนมากขึ้น

Caroline Clason นักธรณีวิทยาและผู้ช่วยศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัย Durham กล่าวว่า การสูญเสีย La Corona ไม่ได้เป็นการสูญเสียน้ำแข็งเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นการสูญเสียระบบนิเวศ ตั้งแต่แหล่งที่อยู่อาศัยของจุลินทรีย์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เป็นการสูญเสียแหล่งน้ำ ไปจนถึงสภาพแวดล้อมที่มีคุณค่าทางวัฒนธรรมที่สำคัญ


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  14 พฤษภาคม 2567

ที่มา : MGR Online (https://mgronline.com/qol/detail/9670000041258)

ไม่น่าเชื่อว่าคนเราจะสร้างขยะได้มากถึง 800 กิโลกรัมต่อปี ทำให้ปริมาณขยะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเขตเมืองอย่างกรุงเทพมหานครที่มีปริมาณขยะมากถึง 8,000 ตันต่อวัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นขยะเศษอาหารมากกว่า 50% อีกทั้งการทิ้งขยะรวมกันโดยไม่แยกขยะก่อนนั้น ทำให้เกิดมลพิษ ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม กลายเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคต่าง ๆ ซึ่งเป็นปัญหารบกวนสุขภาพกายใจของผู้คนสัญจรไป-มาและผู้อยู่อาศัยได้อีกด้วย ที่ผ่านมา ผลเสียจากการไม่แยกขยะในกทม. มีมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้งบประมาณในการบริหารจัดการขยะต้องใช้เงินมากถึง 7 พันล้านบาทต่อปี เมื่อเป็นเช่นนี้อาจทำให้สภาวะทางเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงการพัฒนาเมืองกทม. ต้องสะดุดหยุดชะงักลงได้ ดังนั้น การบริหารจัดการแยกขยะ เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี จึงเป็นภารกิจเร่งด่วนที่กรุงเทพมหานครต้องดำเนินการ ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ภาครัฐเท่านั้น แต่ยังต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากประชาชนชาวกทม. รวมถึงผู้ประกอบการช่วยกันลงมือแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง

นับตั้งแต่ปี 2565 ประชาชนเขตปทุมวัน พญาไท หนองแขม ได้ร่วมมือกันแยก “ขยะเศษอาหาร” และ “ขยะทั่วไป” ออกจากกัน ตามนโยบาย “ไม่เทรวม” ที่นำร่อง 3 เขตแรก เพื่อการจัดการแยกขยะที่ปลายทางได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากนั้นได้ขยายความร่วมมือการแยกขยะให้เข้าถึงทุกพื้นที่ โดยส่งเสริมให้ประชาชนและผู้ประกอบการร่วมกันแยกขยะง่าย ๆ เพียงแยกถุงขยะเศษอาหาร (เปียก) กับขยะทั่วไป (แห้ง) ออกจากกัน ไม่เทรวมกัน ก็ถือว่าเป็นการเริ่มต้นการแยกขยะที่ดี ทั้งนี้ หากต้องการแยกขยะแบบเหนือชั้นกว่า ประชาชนและผู้ประกอบการ สามารถแยกขยะออกเป็น 4 ประเภท คือ 1.ขยะเศษอาหาร เช่น เศษผักผลไม้ เศษอาหาร เศษเนื้อสัตว์ 2.ขยะอันตราย เช่น หลอดไฟ แบตเตอรี่ ถ่านไฟฉาย ยาหมดอายุ กระป๋องสเปรย์ ขวดน้ำยาล้างห้องน้ำ 3.ขยะรีไซเคิล เช่น กระดาษ พลาสติก แก้ว โลหะ และ 4.ขยะทั่วไป เช่น ถุงพลาสติกเปื้อนอาหาร ซองบะหมี่ ถุงขนม กล่องโฟม ผ้าอ้อมสำเร็จรูป โดยเมื่อแยกขยะแล้ว ให้เขียนข้อความระบุประเภทของขยะลงบนถุงกำกับ เพื่อความสะดวกในการคัดแยกต่อไป

นอกจากนี้ คนกรุงเทพฯ สามารถแยกขยะได้อย่างสะอาด เป็นระบบ และมีประสิทธิภาพในระยะยาว ผ่าน 4 แนวทาง คือ 1.ระบบรองรับขยะแยกประเภท ในรถเก็บขนมูลฝอยแบบอัด ขนาด 2 ตัน และ 5 ตัน ทุกคัน โดยติดตั้งถังขยะเศษอาหาร (ถังสีเขียว) ถังขยะรีไซเคิล (ถังสีเหลือง) และถังขยะอันตราย (ถังสีส้ม) ในช่องใส่ขยะแยกประเภทด้านหลังคนขับ โดย กทม. แนะนำวิธีการคัดแยกขยะและวิธีการทิ้งขยะแยกประเภทให้ประชาชนในพื้นที่รับทราบอย่างทั่วถึงและต่อเนื่อง 2. รถเฉพาะกิจสำหรับจัดเก็บขยะเศษอาหารและขยะรีไซเคิลจากประชาชนที่เข้าร่วมโครงการ “ไม่เทรวม” อย่างน้อยสำนักงานเขตละ 1 คัน 3.จุดรวบรวมขยะเศษอาหาร เพื่อนำไปทำปุ๋ยหรือส่งต่อให้เกษตรกรไปใช้ประโยชน์ รวมทั้งมีจุดพักขยะอันตรายแยกประเภทเพื่อส่งกำจัดอย่างถูกวิธี และจุดพักขยะรีไซเคิล เพื่อขายเป็นรายได้เข้ากองทุนสวัสดิการพนักงาน 4.บัญชีรายชื่อประชาชนและสถานประกอบการที่ร่วมโครงการไม่เทรวม และร่วมโครงการคัดแยกขยะ BKK Zero Waste และนำเข้าระบบรายงานตามที่สำนักสิ่งแวดล้อมกำหนด เพื่อให้การบริหารจัดการขยะใน กทม. เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและครบวงจร


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  13 พฤษภาคม 2567

ที่มา https://www.thansettakij.com/business/economy/595657

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตนได้มอบหมายนโยบายให้ทีมพาณิชย์ ซึ่งมีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ทำการสำรวจโอกาสทางการค้าให้กับผู้ประกอบการไทยอย่างต่อเนื่อง

โดยปัจจุบันผู้บริโภคในสหราชอาณาจักรให้ความสำคัญกับประเด็นสิ่งแวดล้อมและความโปร่งใสในการจัดหาส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ มากขึ้น ส่งผลให้เจ้าของผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ต้องคำนึงถึงความยั่งยืนในการผลิตสินค้าทั้งห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ รวมไปจนถึงส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์

จากการสำรวจความเห็นของผู้บริโภคในสหราชอาณาจักรพบว่าให้ความสำคัญในเรื่องความยั่งยืน ความเป็นสีเขียวของทั้งห่วงโซ่การผลิตสินค้ามากขึ้น ผู้ผลิตและผู้ประกอบการของไทย โดยเฉพาะสินค้าแป้งมันสำปะหลัง อาจต้องปรับตัวให้ทันการเปลี่ยนแปลงและความต้องการของผู้บริโภค และผู้ผลิตสินค้าเพื่อส่งออกของไทยอาจต้องปรับปรุงกระบวนการผลิต และการใช้ตรารับรองที่สื่อถึงความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

และได้สั่งการให้กรมการค้าต่างประเทศ และกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศให้คำแนะนำและกระตุ้นให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมแป้งของไทยปรับตัว และให้ความสำคัญกับเรื่องนี้แล้ว เพื่อสร้างโอกาสในการส่งออกและนำรายได้เข้าประเทศต่อไป”นายภูมิธรรมกล่าว


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  12 พฤษภาคม 2567

ที่มา: https://www.thairath.co.th/lifestyle/2783275

เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ เนื่องในเดือนพระราชสมภพของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงวางรากฐานการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลในจังหวัดชลบุรีไว้อย่างเป็นรูปธรรม บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ร่วมกับองค์กรพันธมิตร ได้แก่ ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) สมาคมนักเรียนเก่า AFS ประเทศไทย สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) มูลนิธิธรรมดี และองค์กรภาคีเครือข่าย จัดโครงการทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ครั้งที่ 39 ขึ้น ภายใต้ธีม “ตามรอยเจ้าฟ้านักอนุรักษ์” เพื่อทำกิจกรรมรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเล และเพื่อคืนความสมดุลให้กับระบบนิเวศชายทะเล

โครงการครั้งนี้ได้พาคณะครูอาจารย์ และผู้ที่สนใจลงพื้นที่ทำกิจกรรม ที่พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเกาะและทะเลไทย จังหวัดชลบุรี ที่จัดตั้งขึ้นจากพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา หรือ NATURAL HISTORY MUSEUM อันเป็นสถานที่รวบรวมและจัดแสดงวัตถุธรรมชาติ ทั้งด้านธรณีวิทยา พฤกษศาสตร์ สัตวศาสตร์ทางทะเลเป็นแห่งแรกของประเทศไทย ให้ความรู้เรื่องเกี่ยวกับระบบนิเวศชายฝั่งและทรัพยากรทางทะเล อีกทั้งได้ลงมือปฏิบัติกิจกรรมปลูกป่าโกงกางด้วยวิธีการใหม่ที่เรียกว่า “ท่อใยหิน” แบบยกพื้น ซึ่งเหมาะสมในการปลูกโกงกางในพื้นที่ที่มีคลื่นลมแรง ระดับน้ำทะเลสูง มีก้อนหินและโขดหินเป็นส่วนใหญ่ และยังมีการบรรยาย อาทิ “9 ตามรอยนวัตกรรมของพ่อ ศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนระดับสากล” เป็นการถอดบทเรียนนวัตกรรมศาสตร์พระราชาในประเด็น “ศาสตร์พระราชากับนวัตกรรมแบบก้าวกระโดด” พร้อมสอดแทรกคุณธรรม 5 ประการ เป็นต้น

ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผอ.สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า การอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเปรียบเสมือนการบำรุงรักษาเส้นเลือดใหญ่ทางเศรษฐกิจและสังคมของชาติ เพราะหากเราขาดความเข้มแข็งทางสิ่งแวดล้อมแล้ว เราจะไม่สามารถพัฒนาประเทศให้มั่นคงและยั่งยืนได้เลย การจัดกิจกรรมในครั้งนี้จะเป็นการจุดประกายให้ผู้ที่เข้าร่วมได้พัฒนาจิตวิญญาณแห่งการอนุรักษ์ทะเล และเป็นการสร้างแรงบันดาลใจในการร่วมกันสร้างอนาคตที่ยั่งยืนให้กับประเทศไทยและโลกใบนี้ เป็นการสร้างความตระหนักรู้ ให้ประชาชนหันมาให้ความสนใจกับปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  11 พฤษภาคม 2567

ที่มา : The Bangkok insight (https://www.thebangkokinsight.com/news/world-news/1320322/)

ประเทศไอซ์แลนด์ (Iceland)เป็นประเทศมีชื่อเสียงในด้านภูมิประเทศทางธรรมชาติอันน่าทึ่งรวมถึงธารน้ำแข็ง น้ำตก และน้ำพุร้อนใต้พิภพโดยลักษณะเด่นประการหนึ่ง ที่ทำให้ไอซ์แลนด์แตกต่างจากภูมิภาคอื่นๆ ในโลก ก็คือ การไม่มียุงหรือ non-existence..of..mosquitoesลักษณะเฉพาะนี้มีสาเหตุมาจากปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมหลายอย่างรวมกัน สภาพภูมิอากาศที่รุนแรงของประเทศไอซ์แลนด์ มีบทบาทสำคัญที่ทำให้ไม่มียุง อุณหภูมิที่หนาวเย็นและลมพัดแรงของประเทศทำให้ยุงเจริญเติบโตไม่ได้ ยุงต้องการน้ำนิ่งในการผสมพันธุ์และสภาพภูมิอากาศของไอซ์แลนด์จำกัดความพร้อมของพื้นที่เพาะพันธุ์ที่เหมาะสม นอกจากนี้ การแยกตัวทางภูมิศาสตร์ของไอซ์แลนด์และความหลากหลายทางชีวภาพที่จำกัด ส่งผลให้ไม่มียุง โดยทั่วไปแล้ว แมลงเหล่านี้จะถูกพาไปยังภูมิภาคใหม่ผ่านการค้าระหว่างประเทศ หรือการย้ายถิ่นของนกแต่เนื่องจากไอซ์แลนด์ค่อนข้างโดดเดี่ยวและมีความหลากหลายของสายพันธุ์ค่อนข้างต่ำโอกาสที่ยุงจะมียุงเข้ามาหรือมีชีวิตรอดได้จึงลดลงอย่างมากปัจจุบันไอซ์แลนด์ถือเป็นประเทศเอกราชเพียงหนึ่งเดียวที่ไม่มียุง หรือไม่มียุงอยู่จริงในธรรมชาติ แม้ว่าไอซ์แลนด์จะมีแมลงอยู่ไม่กี่สายพันธุ์ รวมถึงแมลงริ้นและแมลงวันดำแต่ก็ไม่แพร่หลายหรือน่ารำคาญเหมือนยุง เป็นผลให้ชาวไอซ์แลนด์และผู้มาเยือนสามารถเพลิดเพลินกับภูมิประเทศที่น่าทึ่งของประเทศได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องยุงกัด ทำให้ที่นี่เป็นจุดหมายปลายทางที่มีเอกลักษณ์และมีสเน่ห์เฉพาะตัว ทำให้ไอซ์แลนด์ได้รับความนิยมตลอดมา


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  10 พฤษภาคม 2567

ที่มา https://www.mcot.net/view/XCKJfHKz#google_vignette

คริสติน โมเยอร์ รองประธานฝ่ายวิจัยการ์ทเนอร์ บอกว่าการนำ ChatGPT มาใช้อย่างรวดเร็วได้ยกระดับผลกระทบเชิงลบด้านสิ่งแวดล้อมในหลายมิติ จากที่ Generative AI กำลังได้รับความนิยม เป็นความกังวลขององค์กร เมื่อยูสเคสที่เหมือนจะดูดีและถูกขับเคลื่อนในแง่ตรงข้าม Generative AI กลับสร้างผลเสียมากกว่าผลดีในแง่ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) และปริมาณการใช้ไฟฟ้าและน้ำ

หากใช้ Generative AI อย่างถูกวิธีและอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของมนุษย์ Generative AI จะสามารถเร่งให้เกิดความยั่งยืนเชิงบวกพร้อมสร้างผลลัพธ์ทางการเงินได้ โดยเทคโนโลยีนี้อาจช่วยให้บริษัทลดความเสี่ยงด้านความยั่งยืนปรับต้นทุนให้เหมาะสม และขับเคลื่อนการเติบโตได้

เพื่อสร้างสมดุลระหว่างอันตรายและประโยชน์ของเทคโนโลยีนี้ องค์กรจำเป็นต้องดำเนินการ 2 ประการ ประการแรกคือ สร้างการรับรู้และลดการปล่อยพลังงานของ Generative AI เพื่อให้มันเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จากนั้นระบุ ประเมินและจัดลำดับความสำคัญยูสเคสที่เกี่ยวกับความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  9 พฤษภาคม 2567

ที่มา: https://www.dcce.go.th/news/view_public.aspx?p=18150

กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (สส.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ กับ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สร้างความร่วมมือ เสริมสร้างศักยภาพบุคคลากร พัฒนาการความรู้ทางวิชาการ และงานวิจัยด้านการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ เสริมสร้างสุขภาวะที่ดีให้แก่สังคมไทย โดยมี ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม และ ศาสตราจารย์นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกัน

ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรม สส.ทส. กล่าวว่า ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทวีความรุนแรงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในระดับโลก เช่น การเกิดพายุภัยพิบัติธรรมชาติที่รุนแรงขึ้น การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และประเทศไทยกำลังเผชิญกับความร้อนที่สุดขั้วในช่วงฤดูร้อนนี้ จึงได้มีความพยายามที่จะรับมือกับความเสี่ยงและการป้องกันความเสียหาย ทั้งต่อประชาชน ระบบเศรษฐกิจ สังคม ระบบนิเวศ และพร้อมจะยกระดับการดำเนินการเพื่อมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ซึ่งการที่จะบรรลุเป้าหมายนั้น จำเป็นต้องสร้างความเข้มแข็งและความร่วมมือทุกภาคส่วน โดยการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการกับมหาวิทยาลัยมหิดลที่มีผู้เชี่ยวชาญการวิจัยทั้งด้านวิทยาศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านสาธารณสุขศาสตร์ อีกทั้งสหสาขาวิชาทางเทคโนโลยี จะช่วยกันส่งเสริม สนับสนุน พัฒนาการศึกษา วิจัยและความรู้ทางวิชาการในด้านการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดต่อสังคมและประเทศชาติต่อไป

ด้านศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ในปี 2566 – 2567 ที่ผ่านมาเกิดการสุดขั้วของสภาพอากาศที่ถี่ขึ้นและรุนแรงขึ้น ทำให้บั่นทอนการพัฒนามนุษย์และก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคมมากขึ้น โดยมหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงและยกระดับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์และพันธกิจหลักในการสร้างความเป็นเลิศทางด้านสุขภาพ ศาสตร์ ศิลป์ และนวัตกรรมบนพื้นฐานของคุณธรรม ก้าวไปสู่การเป็นหนึ่งในร้อยมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดระดับโลก (World Class University) โดยการนำเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน Sustainable Development Goals – SDGs มาเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัย การลงนามความร่วมมือในวันนี้ จะเป็นก้าวสำคัญในการร่วมพัฒนาศักยภาพภาคีเครือข่ายความร่วมมือด้านวิชาการ และเสริมสร้างสุขภาวะที่ดีของคนในสังคมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  8 พฤษภาคม 2567

ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์  (https://www.thairath.co.th/news/local/2783883)

พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ในฐานะประธานกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมมอบนโยบายการดำเนินงานการตรวจสอบโรงงานอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงให้กับผู้ว่าราชการจังหวัด สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษ (สคพ.) และสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด(ทสจ.) 76 จังหวัดทั่วประเทศ ว่า สถานการณ์อุบัติภัยสารเคมีหลายครั้งในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อม จึงได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการระดับจังหวัดฯ ขึ้นโดยมอบนโยบายให้ผู้ว่าราชการจังหวัด กำชับ กำกับ ให้มีการสำรวจโรงงานที่มีความเสี่ยง โดยเฉพาะโรงงานประเภทที่มีของเสียอันตรายหรือวัตถุอันตราย ที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ชุมชน โรงงานที่ถูกร้องเรียนปัญหาด้านมลพิษซ้ำซากและไม่ได้รับการแก้ไขและจัดส่งข้อมูลให้กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) พร้อมทั้งให้อุตสาหกรรมจังหวัด สนับสนุนข้อมูลโรงงานอุตสาหกรรมที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของการสำรวจ เพื่อให้หน่วยงานต่างๆร่วมกันวิเคราะห์และตรวจสอบข้อมูลให้รอบคอบถี่ถ้วนและให้ ทสจ.ทั้ง 76 จังหวัด สคพ. 1-16 สนับสนุนการทำงานของจังหวัดอย่างเต็มที่ โดยให้ คพ.นำผลการตรวจสอบโรงงานของคณะอนุกรรมการระดับจังหวัดฯมาประมวลเสนอแนวทางในการกำกับ ควบคุม ป้องกัน แก้ไขปัญหาต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติในเดือน มิ.ย.นี้

         พล.ต.อ.พัชรวาทกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแต่ละจังหวัด บูรณาการซักซ้อมการปฏิบัติงานในภาวะฉุกเฉิน ทั้งก่อนเกิดภัย ขณะเกิดภัย และหลังเกิดภัย และกำหนดเป็นมาตรการรองรับเหตุการณ์ในภาวะฉุกเฉิน รวมถึงในกรณีที่เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน ขอให้สื่อสารข้อเท็จจริงกับประชาชนตลอดระยะเวลาที่เกิดเหตุ จนเหตุการณ์เข้าสู่สภาวะปกติ เพื่อไม่ให้เกิดความตื่นตระหนก


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.