• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  8 พฤษภาคม 2567

ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์  (https://www.thairath.co.th/news/local/2783883)

พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ในฐานะประธานกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมมอบนโยบายการดำเนินงานการตรวจสอบโรงงานอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงให้กับผู้ว่าราชการจังหวัด สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษ (สคพ.) และสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด(ทสจ.) 76 จังหวัดทั่วประเทศ ว่า สถานการณ์อุบัติภัยสารเคมีหลายครั้งในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อม จึงได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการระดับจังหวัดฯ ขึ้นโดยมอบนโยบายให้ผู้ว่าราชการจังหวัด กำชับ กำกับ ให้มีการสำรวจโรงงานที่มีความเสี่ยง โดยเฉพาะโรงงานประเภทที่มีของเสียอันตรายหรือวัตถุอันตราย ที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ชุมชน โรงงานที่ถูกร้องเรียนปัญหาด้านมลพิษซ้ำซากและไม่ได้รับการแก้ไขและจัดส่งข้อมูลให้กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) พร้อมทั้งให้อุตสาหกรรมจังหวัด สนับสนุนข้อมูลโรงงานอุตสาหกรรมที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของการสำรวจ เพื่อให้หน่วยงานต่างๆร่วมกันวิเคราะห์และตรวจสอบข้อมูลให้รอบคอบถี่ถ้วนและให้ ทสจ.ทั้ง 76 จังหวัด สคพ. 1-16 สนับสนุนการทำงานของจังหวัดอย่างเต็มที่ โดยให้ คพ.นำผลการตรวจสอบโรงงานของคณะอนุกรรมการระดับจังหวัดฯมาประมวลเสนอแนวทางในการกำกับ ควบคุม ป้องกัน แก้ไขปัญหาต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติในเดือน มิ.ย.นี้

         พล.ต.อ.พัชรวาทกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแต่ละจังหวัด บูรณาการซักซ้อมการปฏิบัติงานในภาวะฉุกเฉิน ทั้งก่อนเกิดภัย ขณะเกิดภัย และหลังเกิดภัย และกำหนดเป็นมาตรการรองรับเหตุการณ์ในภาวะฉุกเฉิน รวมถึงในกรณีที่เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน ขอให้สื่อสารข้อเท็จจริงกับประชาชนตลอดระยะเวลาที่เกิดเหตุ จนเหตุการณ์เข้าสู่สภาวะปกติ เพื่อไม่ให้เกิดความตื่นตระหนก


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  7 พฤษภาคม 2567

ที่มา https://www.bangkokbiznews.com/news/1125345

คณะผู้บริหารเทศบาลเล่อซาน มณฑลเสฉวน ประเทศจีน นำโดย น.ส.เจียง เพยจาง เลขานุการโทของสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย น.ส.ธาริณี สมบุญ รองผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียตะวันออก ททท. นายพอลปรวงคาร์น หัวหน้าคณะทำงานสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ประจำประเทศไทย และนายจาง กั๋วฉิง รองนายกเทศมนตรีเทศบาลเล่อซาน ร่วมเปิดตัวกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว เมืองเล่อซาน มณฑลเสฉวน ประเทศจีน เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติไปท่องเที่ยวและเยี่ยมชมสถานที่ท่องเที่ยวอันขึ้นชื่อที่ได้รับขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก

การจัดงานครั้งนี้เป็นการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม การท่องเที่ยวเพื่อส่งเสริมให้ทั้งสองภูมิภาคที่ใช้ลุ่มน้ำสายเดียวกันนั้นมีความร่วมมือและกระชับความสัมพันธ์ฉันท์มิตรให้แน่นแฟ้นเป็นมิตรภาพที่สร้างพลังและความเข้มแข็ง และการจัดงานครั้งนี้ คือ โอกาสสื่อสารแลกเปลี่ยนกับนานาประเทศจากนโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ทั้งในการจัดการท่องเที่ยวด้านธุรกิจท่องเที่ยว เพื่อให้การท่องเที่ยวเป็นตัวเชื่อมโยงระหว่างผู้คน ช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่มั่นคงและความปลอดภัยในภูมิภาคยิ่งขึ้น


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  6 พฤษภาคม 2567

ที่มา: https://mekhanews.com/2024/05/02/dss-develop-green-library-green-office-conserve-energy-and-environment-sustainably/

กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย คณะกรรมการพัฒนาห้องสมุดสีเขียว กองหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้จัดอบรม “การพัฒนาห้องสมุดสีเขียว (Green Library) และสำนักงานสีเขียว (Green Office)” และได้รับเกียรติจาก ดร. พจมาน ท่าจีน รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ เป็นประธานเปิดการอบรม พร้อมกล่าวต้อนรับ รองศาสตราจารย์ ดร. สยาม อรุณศรีมรกต คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นวิทยากร ซึ่งมีบุคลากร วศ. และบุคลากรจากหน่วยงานภายนอก ให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรม ณ ห้องประชุมวิทยวิถี ชั้น 6 อาคารตั้ว ลพานุกรม กรมวิทยาศาสตร์บริการ และผ่านระบบออนไลน์ (Zoom) กว่า 250 คน

กองหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กรมวิทยาศาสตร์บริการ (สท.วศ.) มุ่งมั่นพัฒนาหน่วยงานให้เป็นหอสมุดด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นนําของประเทศ เป็นแหล่งอ้างอิงทางวิชาการที่ทันสมัยและแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต มีพันธกิจในการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการของห้องสมุดที่อนุรักษ์พลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จึงได้กำหนดมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม และแนวปฏิบัติต่าง ๆ ในการดำเนินการตามพันธกิจและนโยบายห้องสมุดสีเขียว “สท.วศ. เป็นห้องสมุดที่ส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” การพัฒนาห้องสมุดสีเขียว (Green Library) และสำนักงานสีเขียว (Green Office) จึงมุ่งเน้นการสร้างสภาพแวดล้อมของห้องสมุดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การจัดพื้นที่บริการภายในห้องสมุดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีบรรยากาศที่ดี รวมถึงให้บริการความรู้ ความเข้าใจ รณรงค์ให้บุคลากรช่วยกันลดพลังงาน และรักษาสภาพแวดล้อม สามารถนำไปปรับใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน และเกิดผลต่อสภาพแวดล้อมในอนาคตต่อไป


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  5 พฤษภาคม 2567

ที่มา : MGR Online  (https://mgronline.com/qol/detail/9670000038230)

“เมื่อใดที่ต้นไม้ต้นสุดท้ายถูกโค่นลง ปลาตัวสุดท้ายถูกจับ แม่น้ำสายสุดท้ายกลายเป็นพิษ เมื่อนั้น เงินไม่ได้มีค่า เพราะเงินกินไม่ได้” หนึ่งในถ้อยคำของเยาวชนที่ชนะเลิศบนเวทีการประกวดเยาวชนนักพูดต้านการทุจริตเพื่อรักษ์สิ่งแวดล้อม โดนใจนักวิชาการที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมมาอย่างยาวนานร่วม 30ปี อย่าง คุณวิลาวรรณ น้อยภา ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรธรรมชาติ จากสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย หรือTEI ที่ได้รับเกียรติเป็น 1 ใน 8 กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในการคัดเลือกเยาวชนนักพูดต้านการทุจริตเพื่อรักษ์สิ่งแวดล้อม ที่จัดขึ้นโดยมูลนิธิต่อต้านการทุจริตร่วมกับมูลนิธิเพื่อเมืองและชุมชนยั่งยืน โดยการสนับสนุนจากธนาคารออมสิน สภาพสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันนับเป็นปัญหาที่สำคัญ เนื่องจากประชากรมีจำนวนมากขึ้น ส่งผลต่อสภาพสิ่งแวดล้อมและเกิดผลกระทบและความเปลี่ยนแปลงในการใช้ทรัพยากรมาก ไม่คุ้มค่า ตลอดจนเกิดการทำลายทรัพยากรธรรมชาติทั้งทางตรงและทางอ้อมผ่านกระบวนการกระทำทุจริตที่หลากหลายรูปแบบจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งในหน้าที่และภารกิจงานที่เชื่อมโยง ด้วยการกระทำการทุจริตประพฤติมิชอบ การขัดแย้งระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนและผลประโยชน์ส่วนรวม (Conflict of Interest) รวมทั้งการใช้ช่องทางกฎหมายเป็นเครื่องมือในการทุจริต (Rule by Law) จนเป็นสาเหตุการเกิด green corruption ซึ่งนับว่าเป็นการคอร์รัปชั่นที่ใหญ่และเลวร้ายที่สุด ส่งผลถึงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่อย่างจำกัด ซึ่งปัญหาเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องร่วมกันตระหนักและเห็นความสำคัญของการร่วมอนุรักษ์ และใช้ทรัพยากรให้เกิดความคุ้มค่า การสร้างจิตสำนึกที่ถูกต้องในการบริ โภคและการร่วมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพราะการสร้างจิตสำนึกนับเป็นจุดเริ่มต้นของการคลี่คลายปัญหาในปัจจุบันได้อย่างยั่งยืนในอนาคตคุณวิลาวรรณ น้อยภา ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรธรรมชาติ จากสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย หรือ TEI บอกว่า เยาวชนคนรุ่นใหม่ คือกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญที่จะช่วยเป็นกระบอกเสียงสื่อสารการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและช่วยส่งต่อแรงบันดาลใจในการขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นเวทีในครั้งนี้จึงเป็นพื้นที่ในการปลูกฝังการไม่กระทำการทุจริตทำลายสิ่งแวดล้อม (Anti green corruption) ทั้งทางตรงและทางอ้อมได้ และเป็นกิจกรรมสำคัญที่จะสร้างค่านิยมที่ถูกต้อง ปลูกจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม “บทบาทของเยาวชนนักพูดต้านการทุจริตเพื่อรักษ์สิ่งแวดล้อมถือเป็นอีก 1 กระบวนการปลูกฝังทัศนคติและพฤติกรรมในการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Anti-green Corruption) ด้วยความรู้ความสามารถผ่านการสื่อสารประชาสัมพันธ์รณรงค์ความรักษ์สิ่งแวดล้อม ในสถาบันการศึกษาและในชุมชนตลอดจนเป็นการสร้างเครือข่ายเยาวชนในการร่วมกันรณรงค์ต่อต้านการทุจริตเพื่อรักษ์สิ่งแวดล้อมในระดับประเทศให้ยั่งยืนต่อไป” สำหรับ โครงการเยาวชนนักพูดต้านการทุจริตเพื่อรักษ์สิ่งแวดล้อม รอบชิงชนะเลิศ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา โดยในงานได้รับเกียรติจาก พลเอก ธีระเดช ฉัตรเสถียรพงศ์ รองประธานกรรมการมูลนิธิต่อต้านการทุจริต และประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อเมืองและชุมชนยั่งยืน เป็นประธานเปิดงานฯ และได้รับเกียรติจากผู้บริหาร ธนาคารออมสิน ท่านกนกกาญจน์ เงินยวง ผู้อำนวยการฝ่ายกำกับดูแลกิจการที่ดี และคณะร่วมรอบชิงชนะเลิศ พร้อมรับโล่ขอบคุณจากมูลนิธิต่อต้านการทุจริตในครั้งนี้


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  4 พฤษภาคม 2567

ที่มา https://www.thaipr.net/general/3468635

 ความคืบหน้าการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเขตกรุงเทพมหานคร ด้านการพัฒนาเมืองในด้านต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเพิ่มพื้นที่สีเขียว เพื่อแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 สอดคล้องตามแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5ในพื้นที่กรุงเทพมหาคร โดยปัจจุบันมีสวนสาธารณะขนาดใหญ่ที่อยู่ในความดูแลของ สสล. 52 แห่ง และสวน 15 นาที  เปิดให้บริการเพื่อเป็นสถานที่พักผ่อนที่สะดวกสำหรับประชาชน ขณะนี้มีพื้นที่เป้าหมาย 267 แห่ง เปิดให้บริการแล้ว 102 แห่ง โดยอยู่ระหว่างดำเนินการ 165 แห่ง และ DOGPARK(สวนสุนัข) 7 แห่ง ส่วนการปลูกต้นไม้ล้านต้น สร้างพื้นที่สีเขียว และกำแพงกรองฝุ่นทั่วกรุง มียอดจองปลูกต้นไม้จากทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน 1,641,310 ต้น ดำเนินการปลูกแล้ว 899,176 ต้น โดยพื้นที่สีเขียว มีส่วนช่วยลดฝุ่น PM2.5 ลดมลพิษและดูดซับคาร์บอน (CO2) และบรรเทาฝุ่น PM 2.5

นอกจากนั้น ในพื้นที่สวนสาธารณะได้เปิดให้มีพื้นที่กิจกรรมสำหรับประชาชน ทั้งกิจกรรมด้านกีฬา ดนตรีในสวน พื้นที่เสริมสร้างการเรียนรู้และสุขภาวะในสวน อาทิ ห้องสมุดประชาชน ลานกีฬา ลานแอโรบิก ทางจักรยาน ลู่วิ่ง อุทยานผีเสื้อและแมลง โคกหนองนาทวีวัฒนา พื้นที่ลานพักผ่อนสนามหญ้า เพื่อบรรเทาความตึงเครียดในพื้นที่เมืองเสริมสร้างสุขภาวะให้คนเมือง โดย สสล. ได้พัฒนาพื้นที่ เพื่อเมืองน่าอยู่และยั่งยืน รวมถึงปรับปรุงภูมิทัศน์ในส่วนต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  3 พฤษภาคม 2567

ที่มา: https://bangkok-today.com/sme-d-bank-ประสานพลังจัดกิจกรรม/

ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank โดยนายเจษฎา ช.เจริญยิ่ง รองกรรมการผู้จัดการ นายพิชิต มิทราวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ธนาคาร

ร่วมกิจกรรม “ส่ง…ขยะไปเกิดใหม่” ภายใต้โครงการ “SME Decarbonize ร่วมใจเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา” เชิญชวนให้ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ทั่วประเทศ ร่วมแรงร่วมใจเก็บขวดน้ำพลาสติกที่ใช้แล้วไปรีไซเคิล พร้อมแลกรับ “กระเป๋าผ้า Go Green” สำหรับใช้ในชีวิตประจำวัน ปลูกฝั่งสร้างวัฒนธรรมองค์กร ตระหนักให้ความสำคัญต่อการดูแลเอาใจใส่สังคมและสิ่งแวดล้อม

สำหรับกิจกรรมดังกล่าว เป็นหนึ่งในการดำเนินตามนโยบายด้านความยั่งยืนขององค์กร สอดคล้องกับหลัก ESG (Environment: ดูแลสิ่งแวดล้อม Social: ดูแลสังคม และ Governance: มีการกำกับดูแลกิจการที่ดี) ช่วยสร้างคุณค่าและประโยชน์แก่เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม นำไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน ณ ชั้น 1 อาคาร SME Bank Tower ควบคู่สาขาทั่วประเทศ เมื่อเร็วๆ นี้


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  2 พฤษภาคม 2567

ที่มา https://mgronline.com/stockmarket/detail/9670000037698

ผู้ถือหุ้น “เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน” ไฟเขียวลงทุนโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม รวม 12 โครงการ กำลังการผลิต 96 เมกะวัตต์ และโรงงานผลิตเชื้อเพลิงจากขยะอุตสาหกรรม จำนวน 3 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุนตามสัดส่วนการถือหุ้น 9,856 ล้านบาท จากมูลค่าการลงทุน รวม 20,800 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังอนุมัติวาระเสนอขายหุ้น PP 540 ล้านหุ้น พร้อมแจก BWG-W6 ฟรี ในอัตราส่วน 6 หุ้นสามัญเดิมต่อ 1 หน่วยใบสำคัญแสดงสิทธิ เพื่อรองรับแผนขยายธุรกิจ

จากแผนการขับเคลื่อนขยายการลงทุน เป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงความมุ่งมั่นสู่การเป็นผู้นำด้านการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมแบบครบวงจร รวมถึงการดำเนินธุรกิจโรงงานผลิตเชื้อเพลิง SRF โดยบริษัทมีเป้าหมายที่จะขยายการลงทุนในธุรกิจผลิตเชื้อเพลิง SRF เพื่อจัดส่งให้โรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน รวมทั้งช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และลดปริมาณของเสียจากกระบวนการผลิตการนำขยะมาเปลี่ยนเป็นพลังงาน สอดคล้องกับยโนบายเศรษฐกิจหมุนเวียนของภาครัฐได้เป็นอย่างดี


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  1 พฤษภาคม 2567

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ (https://www.bangkokbiznews.com/environment/1124549)

“ช้อปปิ้งออนไลน์” ช่วยให้ชีวิตของเราสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น สามารถเลือกซึ้อสินค้าจากใดก็ได้ เพียงไม่นานก็มีของมาส่งให้ถึงหน้าประตูบ้าน แต่ความสะดวกสบายของผู้บริโภคอาจจะแลกมาด้วยจำนวนขยะที่มากยิ่งขึ้น และทำลายสิ่งแวดล้อมมากกว่าเดิมอีคอมเมิร์ซต่างแข่งขันกันสร้างยอดขายด้วย การจัดโปรโมชั่นกระตุ้นให้ลูกค้าซื้อสินค้าบ่อยขึ้น ก่อนหน้านี้อาจจะมีสินค้าลดราคาครั้งใหญ่แค่ปีละไม่กี่ครั้งตามเทศกาลสำคัญ เช่น แบล็กฟรายเดย์ วันคนโสด แต่ในปัจจุบันกลับมีการจัดโปรโมชั่นขึ้น ทุกเดือน โดยเฉพาะในแอปพลิเคชันซื้อสินค้าออนไลน์ของเอเชีย ที่มักจะมี “ดีลพิเศษ” คูปองส่วนลดเป็นสิ่งดึงดูดให้ผู้บริโภคซื้อของมากขึ้น “ช้อปปิ้งออนไลน์” เพิ่มขยะพลาสติก การช้อปปิ้งออนไลน์ของผู้บริโภคยุคใหม่ ทำให้เกิดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอย่างที่คาดไม่ถึง “บรรจุภัณฑ์” ของสินค้า และกล่องพัสดุมีส่วนอย่างมากที่เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการผลิตพลาสติก สร้างมลพิษต่อระบบนิเวศ ข้อมูลจาก Canopy..องค์กรอนุรักษ์ป่าไม้ค้นพบว่า ในแต่ละปีมีต้นไม้ประมาณ 3,000 ล้านต้นถูกตัด เพื่อผลิตนำไปผลิตเป็นกล่องและหีบห่อสำหรับขนส่งจำนวน 241 ล้านตัน แม้ผู้ให้บริการหลายรายจะพยายามลดการใช้พลาสติกลง ทั้งพลาสติกที่ใช้ห่อหุ้มสินค้า แผ่นกันกระแทก พลาสติกและสติ๊กเกอร์ที่ใช้กับสิ้นค้าชิ้นเล็ก รวมถึงหันมาใช้บรรจุภัณฑ์ที่นำกลับมาใช้ใหม่ หรือรีไซเคิลได้ หรือสามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพมากขึ้น แต่ในบรรจุภัณฑ์พลาสติก 86 ล้านตัน ที่ใช้กันทั่วโลกในแต่ละปี มีไม่ถึง 14% ที่ถูกรีไซเคิลด้วยซ้ำ ที่เหลือถูกทิ้งลงหลุมฝังกลบ หรือกระจายตัวไปตามแม่น้ำ มหาสมุทร ต่าง ๆ ข้อมูลจากไปรษณีย์จีนระบุว่า ในปี 2563 มีการจัดส่งพัสดุถึง 83,000 ล้านชิ้น คิดเป็นปริมาณขยะพลาสติก 1.8 ล้านตัน และขยะกระดาษเกือบ 10 ล้านตัน ส่วนในฮ่องกงมีการขยะบรรจุภัณฑ์จากการช้อปปิ้งออนไลน์ถึง 780 ล้านชิ้น โดยสินค้า 1 ชิ้นจะใช้บรรจุภัณฑ์เฉลี่ยที่ 2.18 ชิ้น ส่วนใหญ่มีประกอบเป็นวัสดุผสมซึ่งยากต่อการรีไซเคิล นอกจากนี้ ศูนย์จัดเก็บข้อมูลคำสั่งซื้อและการจัดส่งต้องใช้พลังงานประมาณ 10 เท่าของปริมาณพลังงานของบ้านทั่วไป และจำต้องใช้น้ำจำนวนมากสำหรับระบายความร้อนอีกด้วย

“การขนส่งสินค้า” ปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมาก นอกจากจะแข่งขันกันด้านราคาแล้ว ในตอนนี้เหล่าอีคอมเมิร์ซต่างแข่งขันกันด้วยความเร็ว Amazon..อีคอมเมิร์ซชั้นนำของโลก ใช้กลยุทธ์ด้านราคา ความสะดวกสบายและความเร็ว เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า โดยทำให้ลูกค้าเชื่อว่าการจัดส่งฟรีและรวดเร็วเป็นสิ่งที่จำเป็น จึงทำให้อีคอมเมิร์ซเจ้าอื่นต่างต้องใช้กลยุทธ์เดียวกัน เพื่อตามทันคู่แข่งรายใหญ่ ทำให้การสั่งของตอนเช้าได้รับของตอนเย็นจึงเป็นเรื่องที่ปรกติ การขนส่งสินค้าสำหรับการช้อปปิ้งออนไลน์ของเหล่าบรรดาไรเดอร์ แมสเซนเจอร์ และบริการเดลิเวอร์รีต่าง ๆ ซึ่งส่วนมากเป็นยานพาหนะที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงจากซอสซิล ทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมาก สภาเศรษฐกิจโลก หรือ WEF คาดการว่าภายในปี 2573 จำนวนรถขนส่งจะเพิ่มขึ้น 36% เป็นประมาณ 7.2 ล้านคันทั่วโลก สิ่งนี้จะไม่เพียงส่งผลให้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นประมาณ 6 ล้านตันเท่านั้น แต่ยังจะทำให้ความแออัดบนท้องถนนเพิ่มขึ้น 21% และส่งผลให้การเดินทางใช้เวลานานมากยิ่งขึ้น


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.